CFP-theemergelab

ทำความรู้จักกับ Certified Financial Planner หรือ CFP

Certified Financial Planner หรือ CFP คือใบอนุญาตระดับ international ของวิชาชีพนักวางแผนทางการเงิน (financial planner) อาชีพนี้มีหน้าที่ ในการช่วยวิเคราะห์ ให้คำแนะนำ การดำเนินการ รวมไปถึงการติดตามผล ทางด้านการเงิน เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร หรือมีฐานะระดับไหน ทุกคนก็ให้ความสำคัญกับการออมเงิน หรือการลงทุนทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงเกิดอาชีพนี้เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา มาช่วยให้การตัดสินใจอะไรๆ ง่ายขึ้น

Certified Financial Planner เป็นมาตรฐานสากลของวิชาชีพนักวางแผนทางการเงิน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของFinancial Planning Standards Board Ltd. หรือ FPSB เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพนักวางแผนทางการเงิน แถมยังเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอีกด้วย โดยในประเทศอเมริกาผู้ริเริ่มการกำหนดมาตรฐานการใช้วุฒิ CPF ตั้งแต่ปี 1985 ชื่อองค์กรว่า Certified Financial Planner Board of Standards Inc. (CFP Board) โดยองค์กรนี้ก็ได้ช่วยเหลือสถาบันทางการเงินในหลายประเทศทั่วโลกได้ก่อตั้ง Financial Planning Standards Board Ltd. ขึ้น จนปัจจุบันมีสถาบันถึง 23 ประเทศทั่วโลก และมีนักวางแผนทางการเงินที่มีใบ CPE มากกว่าหนึ่งแสนราย ซึ่งประเทศไทยเองก็มีสมาคม Thai Financial Planners Association เป็นสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย ที่ได้รับการตอบรับเข้าเป็น associated member ของ FPSB ด้วย โดยสมาคม Thai Financial Planners Association ขณะนี้เป็นองค์กรเดียวที่เป็นสามารถออกใบ CPF ได้ ทำให้คนไทยเรามั่นใจได้ว่านักวางแผนทางการเงินจะมีความเป็นมาตรฐานในระดับสากล โดยนักวางแผนเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ Ability (ความสามารถ) skill (ทักษะ) และ knowledge(ความรู้) ซึ่งทั้ง 3 คุณสมบัตินี้จะมีความสอดคล้องกับความเป็นสากล เนื่องจากนักวางแผนทางการเงินทุกคน จำเป็นจะต้องทราบกฎหมาย วิธีการ หรือเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับการเงินของต่างประเทศด้วย ปัจจุบันมีนักวางแผนทางการเงินของไทยหลายท่านแล้ว ที่สามารถสอบผ่านเพื่อขอใบ Certified Financial Planner

Certified Financial Planner มาพร้อมกับคุณสมบัติ 4E’s

นักวางแผนทางการเงินที่ได้รับใบอนุญาต CFP จะเป็นตัวการันตีได้ว่า นักวางแผนทางการเงินท่านนั้นมีคุณสมบัติ 4 ประการดังนี้

  1. Education (การศึกษา) หมายความว่านักวางแผนคนนั้นจะต้องมีความรู้ทางด้านการวางแผนทางการเงินตามมาตรฐานที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรของอาชีพนักวางแผนทางการเงิน
  2. Examination (การสอบ) หมายความว่านักวางแผนที่ได้รับ CFP ทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบที่วัดว่านักวางแผนคนนั้น สามารถที่จะนำความรู้ไปใช้ในการวางแผนทางการเงินได้ ซึ่งการทดสอบนี้จะช่วยให้ลูกค้า หรือผู้ที่ขอคำปรึกษา เกิดความไว้วางใจในตัวของนักวางแผนมากขึ้นด้วย
  3. Experience (ประสบการณ์) หมายถึงประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนทางการเงินโดยตรง เพื่อที่จะเป็นอีกจุดที่ช่วยยืนยันว่า คุณสามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. Ethics (จรรยาบรรณ) สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ คือความซื่อสัตย์ ดังนั้นนักวางแผนทางเงินจึงต้องมีจรรยาบรรณ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าหรือคนที่ขอคำปรึกษาเป็นหลัก